THAI TIME สิงห์บุรี

กลุ่มสตรีบ้านท่าข้ามรวมตัวคน 3 วัย!! รื้อฟื้นเพลงพื้นบ้านศิลปะรำโทน “แม่ทุเรียน เทียนแก้ว” ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง!!

1311 Views
          นายสมคิด ม่วงเทศ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี (ส.อบจ.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว THAI TIME ประจำจังหวัดสิงห์บุรี ว่า ขณะนี้ตนได้ร่วมมือกับ ผญ.สุชาดา แก้วเลิศ ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ต.ท่าข้าม อ.ค่ายบางระจัน หรือ ผญ.ฝ้าย เพื่อฟื้นฟูศิลปะรำโทนบ้านท่าข้าม ของป้าทุเรียน เทียนแก้วขึ้นมาอีกครั้ง โดยผญ.ฝ้ายได้รวมกลุ่มสตรีบ้านท่าข้าม ประกอบไปด้วยคน 3 วัย คือ วัยเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ มาฝึกซ้อมรำโทน ร้องเพลงพื้นบ้าน ตีกลองโทน และกลองรำมะนา
          นายสมคิดกล่าวต่อไปว่า เมื่อพูดถึง รำโทนบ้านท่าข้าม ก็ต้องนึกถึง คุณป้าทุเรียน เทียนแก้ว ท่านเป็นชาวบ้านท่าข้าม (ปัจจุบันท่านเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว) โดยในอดีตศิลปะรำโทนเป็นการแสดงพื้นบ้านในพื้นที่ จ.ลพบุรี สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามได้สืบทอดการแสดงจนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วพื้นที่ภาคกลาง
2
3
5
          สจ.สมคิด กล่าวว่า รำโทนถือเป็นต้นฉบับของรำวงมาตรฐาน ลักษณะเด่นของรำโทนไม่มีจังหวะหรือลีลาท่าทางที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับเนื้อเพลงและเครื่องดนตรี เช่น โทน ฉาบ ฉิ่ง การรำโทนต้องรำให้เข้าจังหวะกลอง ส่วนมือจะออกลีลาตามเนื้อเพลงที่กล่าวถึงสิ่งนั้นๆ
          การรำโทนเป็นการละเล่นพื้นบ้าน เขาเรียก หนุ่มจีบสาว สาวจีบหนุ่ม นิยมเล่นกันในหมู่บ้าน หรือลานกว้างๆ ในสมัยก่อน เช่นหนุ่มจักรสีห์มาจีบสาวท่าข้าม ทั้งสองฝ่ายจะมารำโทน เป็นการเกี้ยวพาราสีกัน
          ต่อมาป้าทุเรียน เกรงว่าศิลปะรำโทนจะสูญหายไป จึงริเริ่มฟื้นฟู ตั้งกลุ่มรำโทนบ้านท่าข้ามขึ้น ที่ ม.4 ต.ท่าข้าม อ.ค่ายบางระจัน เพื่อสานต่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก ได้ออกงานแสดง และไปบรรยายในที่ต่างๆ เช่น ไปแสดงรำโทนงาน 12 สิงหามหาราชินี บริเวณท้องสนามหลวง และเมื่อครั้งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาที่วัดกลางท่าข้าม เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2543 รำโทนบ้านท่าข้ามได้มีโอกาสแสดงเพื่อรับเสด็จพระองค์ท่าน ถือเป็นความภาคภูมิใจและทำให้รำโทนบ้านท่าข้ามมีชื่อเสียง แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปไม่มีใครสานต่ออีก
          ด้าน ผญ.สุชาดา กล่าวเสริมว่า การตั้งกลุ่มสตรีบ้านท่าข้าม มีวัตถุประสงค์ เพื่อสานต่อฟื้นฟูศิลปะรำโทนบ้านท่าข้าม ของคุณป้าทุเรียนไม่ให้ขาดหายไป และกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง ซึ่งทุกวันช่วงเย็นๆ กลุ่มสตรี 3 วัย และลูกหลานของป้าทุเรียน จะมาฝึกซ้อม รำโทน ตีกลอง ฉิ่ง ฉาบ โดยมีผู้สูงอายุบางท่านที่เป็นคนเก่าแก่ เคยได้ร่วมรำกับป้าทุเรียน มาคอยแนะนำการรำ ทำให้มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์รำโทนของแท้ เพราะส่วนใหญ่จะนำไปดัดแปลงและรำตามแบบของ จ.ลพบุรี
          อย่างไรก็ตามการรื้อฟื้นรำโทนของป้าทุเรียน เทียนแก้ว เป็นการสืบทอดและ อนุรักษ์ สืบสานศิลปะเพลงพื้นบ้านดั้งเดิมของบ้านท่าข้าม เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีความสามัคคีในชุมชน อีกทั้งเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัยอีกด้วย
          ผญ.ฝ้ายกล่าวอีกว่า ในอนาคตวางแผนไว้ว่า จะนำรำโทนเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมผู้สูงอายุ, อสม., ผู้นำชุมชน และประชาชนทั่วไป โดยขอเชิญชวนให้ไปร่วมรับชม ศิลปะรำโทนบ้านท่าข้ามได้ที่งานแข่งเรือยาว ประเพณี (ครั้งที่ 18) วันที่ 17 ตุลาคม 2563 เวลา 09.30-10.00 น. ณ บริเวณหน้าวัดกลางท่าข้าม (ท่าน้ำสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ) อ.ค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี
by : ประนอม พวานนท์ ผู้สื่อข่าว THAI TIME ประจำจังหวัดสิงห์บุรี

Comments

comments