ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา(4 ธันวาคม 2563) นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสิงห์บุรี ได้ออกแถลงการณ์ ชี้แจงกรณีพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายแรกของจังหวัดสิงห์บุรี ความว่า
เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๐๐ น. ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ว่ามีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน ๒ ราย จาก โรงพยาบาลบางระจัน โดยรายที่ ๑ เพศหญิง อายุ ๔๓ ปี ภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดอ่างทอง และรายที่ ๒ เพศหญิง อายุ ๕๑ ปี ภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสิงห์บุรี โดยทั้ง ๒ ราย ได้รับทราบข่าวการเดินทางโดยเครื่องบินของผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากจังหวัดเชียงราย ซึ่งทั้ง ๒ รายเดินทางมาในเที่ยวบินเดียวกัน
ประกอบกับเริ่มมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว จึงเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลบางระจัน ทั้งนี้โรงพยาบาลบางระจัน ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และประสานทีมสอบสวนโรคค้นหาผู้สัมผัสร่วมบ้านและในชุมชน โดยในเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ทราบรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการว่า ผู้ป่วยรายที่ ๑ ผลตรวจปกติ ไม่พบสารตั้งต้นทางพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่วนผู้ป่วยรายที่ ๒ ผลตรวจพบสารตั้งต้นทางพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี
เช้านี้ (๔ ธันวาคม ๒๕๖๓) เวลา ๐๘.๓๐ น. นายแพทย์จักราวุธ จุฑาสงฆ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อสั่งการ และเตรียมการรองรับสถานการณ์ พร้อมกันนี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, สำนักงานควบคุมโรคที่ ๔ สระบุรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดสิงห์บุรี ได้ลงพื้นที่ดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคในทันที
ซึ่งเบื้องต้น ผู้สัมผัสใกล้ชิด จำนวน ๔ ราย ได้ดำเนินการกักตัวอยู่ในโรงพยาบาลสิงห์บุรี จำนวน ๓ ราย และโรงพยาบาลค่ายบางระจัน จำนวน ๑ ราย ส่วนข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ ขอให้รับฟังการแถลงข่าวจากส่วนกลางในวันพรุ่งนี้
ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และรับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ และปฏิบัติตัวตามมาตรการ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ ลงทะเบียนไทยชนะทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี หมายเลขโทรศัพท์ ๐๓๖ ๘๑๓๔๙๓ หรือ โทรสายด่วน ๐๘๖ ๓๑๘๘๘๕๓
ขณะที่ความเคลื่อนไหวอื่นๆ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งลงพื้นที่ตรวจสอบและติดตามกลุ่มเสี่ยง รวมไปถึงการป้องกันอย่างเข้มงวด มีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อตามไทม์ไลน์ที่ผู้ป่วยเดินทางไปเรียบร้อยแล้ว
Comments
No related posts.