สว.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธาน กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา เปิดเผยถึงแนวทางในการป้องกันน้ำเค็มรุกพื้นที่บริเวณคุ้งบางกะเจ้า สมุทรปราการ ว่า เห็นควรให้สร้างแนวป้องกันน้ำเค็มรุกพื้นที่ ด้วยฝายแกนซอยซีเมนต์ บริเวณพื้นที่ หมู่ที่ 10 ตำบลบางกอบัว จำนวนพื้นที่ 8 ไร่เศษ ซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้
โดยได้รับความร่วมมือและผลักดันจากนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรปราการ และองค์ปกครองท้องถิ่น โดยจะเร่งดำเนินการในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งโครงการนี้เป็นการทดลองว่าฝายแกนซอยซีเมนต์จะสามารถจัดการกับปัญหาน้ำเค็มในบางกระเจ้าได้จริงหรือไม่
ทั้งนี้ ‘คุ้งบางกระเจ้า’ มีแม่น้ำเจ้าพระยาล้อมรอบ รวมความยาว 18 กม. เนื้อที่ 11,819 ไร่ ประกอบด้วย 6 ตำบล 63 หมู่บ้าน มีประชากร 11,018 ครัวเรือน มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีพืช 371 ชนิด สัตว์ 305 ชนิด
สำหรับปัญหาที่พบคือ การถูกคุกคามจากความเค็มของน้ำในปัจจุบันที่รายล้อมนอกกำแพงรอบคุ้งบางกระเจ้า ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้เนื่องจากมีค่าความเข้มเกินมาตรฐานและมีระยะเวลาที่ยาวนานกว่าเดิม
ปัจจุบันมีน้ำจืดในคุ้งบางกระเจ้าเพียง 3-4 เดือนต่อปี (ช่วงฝนและจะมีน้ำเค็มผ่านเข้ามาผสมตลอดเวลา) จากนั้นจะมีน้ำเค็มราว 8-9 เดือน ซึ่งเดิมเคยมีน้ำจืดปีละ 8 เดือนและมีน้ำเค็ม 4 เดือน ทำให้พืชผลเสียหาย หลายชนิดสูญพันธุ์ เช่นมะม่วงนำ้าดอกไม้ มะเหมี่ยว อันหอมหวาน ลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย
จากข้อมูลเฝ้าระวัง ของหน่วยงานโครงการประตูบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 มีค่าความเค็มเฉลี่ยสูงกว่า 4 กรัมต่อลิตร โดยมีค่าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 17 กรัมต่อลิตร ซึ่งสร้างความเสียหายต่อการเกษตรกรรมในพื้นที่อย่างร้ายแรง
ขณะนี้ทาง อบจ.สมุทรปราการกำลังประสานงานเพื่อจัดการประชุมร่วมกัน 4 ฝ่าย คือ อบจ. กรมชลประทาน กรมป่าไม้ และกมธ.แก้ปัญหาความยากจนเพื่อจะกำหนดแผนการทำงานในเรื่องนี้โดยเร็วต่อไป
(ภาพ-ข้อมูล : เพจ สังศิต พิริยะรังสรรค์)
Comments
No related posts.