THAI TIME สิงห์บุรี

เปิดแล้วศูนย์เรียนรู้ปลาสลิดฯ โมเดลแห่งการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

2327 Views

Loading

จากการที่องค์การบริหารส่วนตำบลคลองด่าน (อบต.) ร่วมกับ สำนักพัฒนาชุมชน จังหวัดสมุทรปราการ ดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และแปรรูปปลาสลิดของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับปลาสลิด โดยเฉพาะปลาสลิดบางบ่อ เพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มขีดความสามารถทางการเรียนรู้และการแปรรูปของผู้ประกอบการ ตลอดจนเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล ทั้งมาตรฐาน OTOP มาตรฐานอุตสาหกรรม มาตรฐานฮาลาล รวมถึงให้ได้รับการรับรองจาก อ.ย. ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ

          ปัจจุบันโครงการศูนย์เรียนรู้และแปรรูปปลาสลิด กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จและมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 โดยมีนายชาติชาย อุทัยพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนางสีชมภู บุตรสินธุ์ พัฒนาการจังหวัดสมุทรปราการ นายเอนก สุขสำราญ นายก อบต.คลองด่าน นางสาวสุกัญญา อัศวเหม ประธานสภา อบจ. สมุทรปราการ หัวหน้าส่วนราชการ และผู้ประกอบการ เข้าร่วมในพิธีเปิด ซึ่งอาคารศูนย์การเรียนรู้ฯ จะเปิดดำเนินการโดยมีอบต.คลองด่าน เป็นผู้ดูแลและดำเนินงานต่อไป
          นายณรงค์เดช วงศ์ประเสริฐ รองนายก อบต.คลองด่าน เปิดเผยถึงที่มาของโครงการนี้ว่า เกิดจากการแก้ไขปัญหาของประชาชนและผู้ประกอบการที่ถูกไล่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบริเวณริมถนนสุขุมวิท ฝั่งริมคลองใหม่ ตั้งแต่หมู่ 3 หมู่ 11 และหมู่ 12 จำนวนกว่า 400 หลังคาเรือน ซึ่งในขณะนั้นประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทาง อบต.คลองด่าน จึงได้หาทางแก้ไขปัญหาด้วยการจัดหาพื้นที่รองรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกลุ่มนี้  ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่พบว่ามีพื้นที่ของกรมธนารักษ์ จำนวน 28 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา จึงได้ทำหนังสือขอเช่าพื้นที่ของกรมธนารักษ์เพื่อจัดสรรแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนที่เดือดร้อน

         เมื่อทำการสำรวจประชาชนผู้ถูกไล่รื้อถอนที่อยู่อาศัย พบว่ามีทั้งประชาชนผู้อยู่อาศัย และผู้ประกอบการต่างๆ อบต.คลองด่าน จึงได้แบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น 4 ส่วน คือส่วนการจัดทำโครงการบ้านพักอาศัย จำนวน 8 ไร่ 60 ตารางวา ปัจจุบันดำเนินการภายใต้สหกรณ์แปรรูปปลาสลิดเคหะสถาน และอยู่ระหว่างดำเนินการปลูกสร้างอาคารสำหรับอยู่อาศัย โดยได้งบประมาณจากพัฒนาองค์กรชุมชนแห่งชาติในการดำเนินการ
         ถัดมาคือส่วนจัดทำสวนสาธารณะ จำนวน 3 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา โดยจะทำเป็นพื้นที่สวนสาธารณะและอาคารหอประชุม ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุมัติงบประมาณจากทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ(อบจ.) สำหรับพื้นที่ส่วนจัดทำโครงการศูนย์เรียนรู้และแปรรูปปลาสลิดฯ ซึ่งขณะนี้ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ มีขนาด 11 ไร่ 2 งาน 33 ตารางวา โดยได้รับความร่วมมือจากพัฒนาชุมชนจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างอาคาร และส่วนสุดท้ายที่มีขนาด 5 ไร่ จะดำเนินการในการจัดทำโครงการระบบการจัดการส่งสินค้า ข้อมูล และทรัพยากรอย่างอื่น (Logistics) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

         “ในส่วนของศูนย์การเรียนรู้และแปรรูปปลาสลิด เราได้ส่งต่อให้กับจังหวัดสมุทรปราการดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาความต้องการของประชาชนให้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดหาพื้นที่เพื่อประกอบอาชีพ ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้ในการเลี้ยงปลาสลิดและแปรรูปปลาสลิดให้สะอาดปลอดภัยกับผู้บริโภค พัฒนาทักษะการแปรรูปผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้ได้ตามหลักมาตรฐานของ GMP กระทรวงสาธารณสุข มาตรฐาน OTOP และมาตรฐานฮาลาล เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และยกระดับการค้า ตลอดจนได้รับการยอมรับสากล” นายณรงค์เดช กล่าว
         ศูนย์การเรียนรู้และแปรรูปปลาสลิด ได้เปิดดำเนินการ โดยจัดสรรและแบ่งพื้นที่ออกเป็น ส่วนอาคารศูนย์การเรียนรู้และแปรรูปปลาสลิด อาคารตากปลาสลิด อาคารอเนกประสงค์ อาคารห้องน้ำ พื้นที่ถมดิน คันกั้นน้ำเค็ม ถนน ค.ส.ล. อาคารจำหน่ายสินค้า บ่อบำบัดน้ำเสีย และแผงจำหน่ายปลาสลิด ซึ่งยังคงมีการดำเนินงานและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังได้จัดสรรพื้นที่สำหรับประชาชนผู้ประกอบการให้เข้ามาค้าขายสินค้าไม่ว่าจะเป็นปลาสลิด อาหารทะเล สินค้าเกษตร ฯลฯ

           ด้าน นางสาวสุกัญญา อัศวเหม ประธานสภา อบจ. สมุทรปราการ กล่าวถึงศูนย์การเรียนรู้และแปรรูปปลาสลิดฯ ว่า การเกิดศูนย์เรียนรู้และแปรรูปปลาสลิดฯ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะผู้ประกอบการจะได้มีแหล่งจัดจำหน่ายและแปรรูปสินค้าที่ได้มาตรฐาน ซึ่งหากผู้ประกอบการทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาสินค้าให้ก้าวสู่ตลาดสากลได้ ทั้งนี้ อบจ.สมุทรปราการ ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเต็มที่ หากแต่การสนับสนุนดังกล่าวจะต้องไม่ขัดต่อระเบียบและข้อกฎหมายที่กำหนดไว้
        นอกจากนี้ นายณรงค์เดช กล่าวเสริมอีกว่า จากการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในครั้งนี้ถือเป็นโมเดลการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนของ อบต.คลองด่าน ที่ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของตนเอง ส่งผลให้ตำบลคลองด่าน ได้รับรางวัลตำบลต้นแบบคุณธรรมจากโครงการเครือข่ายคุณธรรมนำสังคมเป็นสุข ปี 2550 อีกด้วย..

Comments

comments