THAI TIME สิงห์บุรี

ภาคประชาชนสิงห์บุรี ร่วมถอดบทเรียนน้ำท่วม 2565 จ่อฟ้องผู้บริหารจัดการน้ำผิดพลาด

293 Views
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ภาคประชาชนจังหวัดสิงห์บุรี นำโดย นายโกศล ขันติธาน ปราชญ์ชาวบ้าน นายบรรหาร พึ่งวงญาติ ประชาคมจังหวัด ว่าที่ ร.อ.ณัฐพิสิฐ เจริญถิรวิสิฐ ประธานหอการค้าจังหวัดสิงห์บุรี นางธนิสร แจ้งสนอง กรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด นายประชาญ มีสี สมัชชาสุขภาพจังหวัด พันเอกสมบัติ ระรวยทรง ประธานสภาองค์กรชุมชน/ประธานอาสาสมัครทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ป.แดนเกษตรฟาร์ม ศิลปินศิลปะ บ้านควายอาร์ต และองค์กรภาคี ร่วมถอดบทเรียนปัญหาอุทกภัยสิงห์บุรีปี 2565
          นายประชาญ มีสี สมัชชาสุขภาพจังหวัด เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการร่วมถอดบทเรียนฯ ว่า ปัญหาหลักที่นำมาพูดคุย คือ ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งพบว่า น้ำท่วมปีนี้สร้างความเสียหายมากมายมหาศาลทั้งต่อชีวิต สุขภาพ ทรัพย์สิน และการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสิงห์บุรี
          ข้อเท็จจริง พบว่า ปัญหาหลัก มาจากการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบท และปัญหาของพื้นที่ ขาดข้อมูล และการสื่อสารที่ดี รวมถึงการจัดสรรน้ำที่ไม่เป็นธรรม ในขณะเดียวกันหน่วยงานองค์กรในจังหวัดไม่มีอำนาจบริหารจัดการหรือตัดสินใจใดๆ เลย เป็นเพียงหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ บรรเทา เยียวยา ตามภาระหน้าที่ที่จำเป็นเท่านั้น
          สิ่งที่ชุมชนท้องถิ่นทำได้ดี คือผู้นำ ทีมงาน และแกนนำชุมชน มีความเข้าใจพื้นที่ดี เข้าถึงประชาชนของตนเอง หลายพื้นที่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ด้วยตัวของชุมชนท้องถิ่นเอง และหลายพื้นที่มีการช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ปัญหา และบางพื้นที่เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น เครื่องกรอกกระสอบทราย แพแปลงผักรอยน้ำ ฯลฯ
          ส่วนอุปสรรค คือ ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่ง ยังขาดงบประมาณ ขาดอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นในการป้องกันน้ำท่วม และบางพื้นที่มีข้อจำกัดด้านภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย
          นายประชาญกล่าวต่อไปว่า มติที่ประชุม จึงมีข้อเสนอหลักการแก้ไขประมาณ 10 ข้อ เช่น
          🔸️ให้จังหวัดมีคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ โดยการมีส่วนร่วม(บูรณาการ) และให้มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้
          🔸️หน่วยงานรัฐ และชุมชนท้องถิ่น ต้องมีแผนปฏิบัติการเพื่อตั้งรับในฤดูน้ำหลากตามบริบทของพื้นที่ ทั้งก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิด อย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน ต้องมีการเชื่อมโยง และบูรณาการร่วมกับตำบลอื่น หรือตำบลข้างเคียงด้วย
          🔸️ในภาวะวิกฤต เมื่อกำหนดพื้นที่ทุ่งรับน้ำแล้ว รัฐต้องบริหารจัดการปลอยน้ำลงสู่ทุ่งรับน้ำ และสื่อสารให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง
          นายประชาญยังกล่าวอีกว่า ประเด็นที่สำคัญ ประชาชน/ผู้ประกอบการชาวสิงห์บุรีที่ได้รับความเสียหาย จะรวมตัวฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ต่อหน่วยงานองค์กรรัฐที่บริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดครั้งนี้ต่อไป

Comments

comments