เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสิงห์บุรี จัดให้มีการแถลงข่าวในงานมหัศจรรย์เตาเผาแม่น้ำน้อย โดยมีนายสุพจน์ ยศสิงห์คำ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นายสานนท์ เพ็ญแสง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมงาน
นายสานนท์ เพ็ญแสง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสิงห์บุรี เปิดเผยว่า สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสิงห์บุรีและกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบนได้ร่วมกันจัดงานมหัศจรรย์เตาเผาแม่น้ำน้อย เพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยววิถีไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาป่าสักของกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน กำหนดงานในวันที่ 29 เมษายน ถึง 1 พฤษภาคม 2566 เวลา 10:00 – 21:00 น. ณ พิพิธภัณฑ์เตาเผาแม่น้ำน้อยอำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมสื่อสัญจร บรรยายข้อมูลเชิงวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่
อ.พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร์ นักเขียนอิสระ กล่าวถึงประวัติศาสตร์การค้าการทูตในสมัยอยุธยาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของเตาเผาแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี ว่า เกิดจากราชวงศ์หมิงประกาศปิดประเทศ ห้ามไม่ให้พ่อค้าชาวจีนออกทำการค้านอกแผ่นดิน ซึ่งภาชนะดินเผาเนื้อขาวมีจีนแห่งเดียวเท่านั้นที่ทำได้
ต่อมากรุงศรีอยุธยาส่งคณะทูตไปยังประเทศจีน มีเจ้านครอินทร์เป็นหัวคณะ และได้รับความไว้วางใจให้ทำการค้ากับจีนได้ จึงมีการก่อตั้งเตาเผาแม่น้ำน้อยขึ้น ประกอบกับไหสี่หูของเตาเผาแม่น้ำน้อยได้รับความนิยม เป็นที่ต้องการอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นภาชนะเนื้อแกร่ง คงทนกว่าภาชนะดินเผาที่เคยผลิตมา
อ.วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ เลขานุการคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ศึกษาเส้นทางน้ำ กล่าวถึงการศึกษาเส้นทางน้ำในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา โดยกล่าวถึงเรื่องราวเตาเผาแม่น้ำน้อย ว่า ผลจากการค้าที่เจริญรุ่งเรือง ทำให้ชาวฮอลันดา สนใจในเส้นทางการค้าทางน้ำ จึงได้ออกเดินทางวาดแผนที่จากกรุงศรีอยุธยาย้อนขึ้นไปตามลำน้ำต่างๆ ได้แก่ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำน้อย
ซึ่งแม่น้ำน้อย มีการระบุสถานที่ที่อยู่ในจังหวัดสิงห์บุรีไว้ในแผนที่ คือ วัดหน้าพระธาตุ วัดพระนอนจักรสีห์ บ้านเชิงกลัด และวัดเพชร โดยวัดเพชรก็คือวัดพระปรางค์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรีนั่นเอง และยังมีข้อมูลระบุว่า เตาเผาแม่น้ำน้อย เป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตมาก
อ.โกศล ขันติทานต์ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีเตาเผาแม่น้ำน้อย เรื่องราวเตาเผาที่เราไม่เคยรู้ มาก่อน ตัวอย่างเช่น ได้ค้นพบเตาเผา ถึง 3 ยุค จากชั้นต่างๆ รอบเตาเผา และสามารถทราบถึงขบวนการทำงานของเตาเผาได้เช่น ห้องฟืน ผนังกันความร้อน ห้องภาชนะดินเผา ห้องเผาไหม้ และปล่องควัน แบ่งเป็นตอนได้ 3 ตอน ตอนหน้าเตา กลางเตา และตอนหลังเตา
นอกจากนี้ คุณลักษณะพิเศษของเตาเผา ต้องมีการควบคุมอุณภูมิไฟเป็นอย่างดี ในการเผาแต่ละครั้ง ใช้เวลา 45 วันโดยใช้ฟืนเป็นจำนวนมาก ก่อนเสียกรุง ทางการให้สั่งชาวบ้านเร่งผลิตลูกปืน หลายขนาดแต่ไม่ถูกนำไปใช้ เนื่องจากยังผลิตไม่เสร็จสมบูรณ์ ต่อมาเตาเผาถูกทำลายโดยชาวบ้านแถวนั้น เพื่อไม่ให้ผู้รุกรานได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งผลิตเตาเผา
………………………
By : ประนอม พวานนท์ ผู้สื่อข่าว THAI TIME ประจำจังหวัดสิงห์บุรี
Comments
ข่าวที่น่าสนใจ:
-  เปิดผลสำรวจยอดฉีดวัคซีนป้องกันโควิด กลุ่มเสี่ยง 608 สิงห์บุรี…พบยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกกว่า 1 หมื่นราย
- ทุนท้องถิ่นสิงห์บุรีผงาด!? ไชยแสงฯเปิดห้างฯใหม่ CS Park ผุด “ไชยแสงซูเปอร์สโตร์” ชิงลูกค้าแม็คโคร-โลตัส
- ฟังทัศนะ..ดร.สุรสาล ผาสุข “สิงห์บุรีต้องพัฒนา..พร้อมกันทุกด้าน”
- อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ จัดพิธีไหว้ครู-ครอบครู
- ผวจ.สิงห์บุรีลงพื้นที่หนองระหาน วางแผนพัฒนาเป็นที่เก็บน้ำ