ผู้ว่าฯ กทม. ใช้ยาแรง สั่งปิดสถานที่เสี่ยงเพิ่ม 22 วัน เริ่ม 22 มี.ค.-12 เม.ย. 2563 เว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ส่วนร้านอาหารจำหน่ายได้เฉพาะซื้อหิ้วกลับบ้าน
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2563 พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อหารือมาตรการเพิ่มเติมเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์การระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติสั่งปิดสถานประกอบการตามมาตรา 35 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพิ่มเติม เป็นระยะเวลา 22 วัน ตั้งแต่ 22 มีนาคม-12 เมษายน 2563
โดยสถานที่เสี่ยง ต้องปิดเพิ่มเติม ได้แก่
– สปา นวดเพื่อสุขภาพ
– สถานบริการควบคุมน้ำหนัก
– สปาอาบน้ำ ตัดขนสัตว์
– ลานสเก็ตหรือโรลเลอร์เบรด
– กิจการเสริมสวย และคลินิคเสริมความงาม
– สวนสนุก โบว์ลิ่ง ตู้เกม
– กิจการบริการคอมพิวเตอร์
– สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ
– สระว่ายน้ำ
– กิจการสักผิว
– กิจการบริการเลี้ยงและดูแลเด็กที่บ้าน
– บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน
– สนามพระ
– สนามชนไก่ และสนามซ้อมชนไก่
– สถานที่จัดประชุมและนิทรรศการ
– ตลาดทุกประเภท ยกเว้นแผงของสด และแผงค้าที่จำหน่ายอาหารตามความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน
– ห้างสรรพสินค้า ยกเว้นส่วนซูเปอร์มาร์เก็ต
– สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย สถานศึกษารัฐ เอกชน โรงเรียนประจำ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนกวดวิชาทุกแห่ง
– สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันอบรมวิชาชีพทั่วกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังขอความร่วมมือหน่วยงานเอกชนให้อนุญาตพนักงานทำงานที่บ้าน ส่วนหน่วยงานของรัฐให้ใช้วิธีเหลื่อมเวลาหรือสลับวันการทำงาน ตามความเหมาะสม ส่วนระบบขนส่งมวลชนขอให้จัดเว้นระยะที่นั่งเพื่อลดความแออัดของผู้โดยสาร และขอความร่วมมือประชาชนลดการเดินทางไปในสถานที่ที่มีคนหนาแน่น
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนไม่ต้องกักตุนสินค้า ร้านอาหารยังเปิดตามปกติ เพียงแต่ขอให้ปรับรูปแบบเป็นแบบกล่องกลับบ้าน (take away) และซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ยังเปิดตามปกติ ร้านสะดวกซื้อให้หมั่นทำความสะอาด มีจุดบริการแอลกอฮอล์บริเวณทางเข้า เพื่อความสะอาด ปลอดภัย
อย่างไรก็ตามหลังจากข่าวดังกล่าวแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีประชาชนเดินทางไปยังห้างสรรพสินค้าแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อซื้อสินค้าสำหรับการบริโภคในครัวเรือนกันเป็นจำนวนมาก จนการจราจรติดขัด โดยเฉพาะย่านถนนศรีนครินทร์
ขณะที่ไทยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 89 คน ยอดรวมพุ่ง 411 ราย โดย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่จำนวน 89 ราย จำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วย จำนวน 51 ราย มาจากสนามมวย 32 ราย
2.ผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 38 ราย เป็นกลุ่มมาจากต่างประเทศ 12 ราย โดยเป็นคนไทย 6 ราย ต่างชาติ 6 ราย พบว่ามีการกลับจากท่องเที่ยว ผับ และปอยเปต กลุ่มอาศัยทำงานที่แออัดใกล้ชิดคนจำนวนมากหรือเกี่ยวข้องต่างชาติ 6 ราย ได้แก่ ค้าขาย พนักงานเสิร์ฟ พนักงานขาย พนักงานสถานบันเทิง คนขับรถ และกลุ่มยังต้องรอผลสอบสวนโรคประวัติเสี่ยงอีก 20 ราย ซึ่งเมื่อมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นจึงต้องไปดูเหตุว่าเชื่อมต่อกับใคร
สรุปผู้ป่วยสะสม 411 ราย กลับบ้านแล้ว 44 ราย เสียชีวิต 1 ราย และอยู่ระหว่างรักษา 366 ราย สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน ที่ยังไม่มีการลดกิจกรรมสังคม ไม่เว้นระยะห่างบุคคล และนำโรคติดคนใกล้ชิดครอบครัว เพื่อนฝูง
Comments
ข่าวที่น่าสนใจ:
- กทม. ชูคลอง..ท่องเที่ยววิถีใหม่ New Normal เชื่อมโยงคลองประวัติศาสตร์รอบกรุงฯ
- กทม.ตามติดสถานการณ์หลังผ่อนปรน 6 ธุรกิจเปิดบริการได้
- กทม.มองข้ามชอต..กระตุ้นคนกรุงรับมือผลกระทบโควิด-19 ปลูกผักปลอดสารพิษไว้กินเอง
- เปิดคลินิค ‘บางกอกแบรนด์’ สู้วิกฤติ ‘COVID-19’
- รู้หรือยัง..โควิด-19 ส่งผลให้ขยายเวลาทำบัตรประชาชนได้นะ