ข่าวทั่วไป

ศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนสมุทรปราการ ต้นแบบจัดการนำขยะ..แปรรูปสู่พลังงานไฟฟ้า

2437 Views

Loading

จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2560 โดยกรมควบคุมมลพิษ พบว่าจังหวัดสมุทรปราการมีขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 2,445.62 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณการสะสมของขยะมูลฝอยที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย โดยนำมาทิ้งยังบ่อขยะที่ตำบลแพรกษาใหม่ จนได้สมยานามว่าเป็น “ภูเขาขยะขนาดใหญ่” ที่ส่งกลิ่นรบกวนมาในระยะทางไกล

          เมื่อเกิดการสะสมของขยะมูลฝอยเป็นจำนวนมากในพื้นที่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการจัดตั้งและพัฒนาศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของบริษัท อีสเทิร์น เอเนอจี้ พลัส จำกัด ที่เข้ามาจัดการขยะในจังหวัดสมุทรปราการ

          “จังหวัดสมุทรปราการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 48 แห่ง ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท โดยการบูรณาการร่วมกันในโครงการศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนแบบครบวงจร และเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2559 โดยให้ อปท. เก็บขยะมูลฝอยจากต้นทางในพื้นที่ตนเอง มายังบ่อขยะแพรกษาใหม่ และบริษัทจะเป็นผู้บริหารจัดการขยะมูลฝอย” นายธนพล ปิยาภรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อีสเทิร์น เอเนอจี้ พลัส จำกัด กล่าวถึงที่มา

           เริ่มต้นจากการจัดการกับบ่อขยะเดิมที่เป็นบ่อแบบฝังกลบตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน บนพื้นที่ขนาด 159 ไร่ โดยรับเฉพาะขยะจากชุมชนในปริมาณ 4,000 ตันต่อวัน จาก อปท.ต่างๆ จากนั้นฝังกลบในรูปแบบเทกองแบบควบคุมโดยการใช้น้ำหมักชีวภาพ (EM) ฉีดลงไปยังขยะที่จะทำการฝังกลับ 200,000 – 300,000 ลิตรต่อวัน และยังใช้ดินเหนียวเทกลบเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นขยะที่รบกวนประชาชน  และน้ำหมักชีวภาพยังสามารถช่วยย่อยสลายอินทรีย์สาร
           ในส่วนของการแยกขยะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบไปด้วย ขยะที่เผาไหม้ได้ ร้อยละ 60 เป็นขยะที่ไม่มีราคา ไม่ย่อยสลาย ใช้การเผาเป็นเชื้อเพลิง RDF ประเภทที่ 2 ขยะอินทรีย์ เป็นพวกเศษอาหาร เป็นของหนักไม่ค่อยย่อยสลาย จึงนำกากที่เหลือไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือผสมดิน ประเภทสุดท้ายคือ ขยะรีไซเคิล เป็นขยะที่มีราคา สามารถนำไปขายได้

           จุดเด่นที่สำคัญของศูนย์บริหารจัดการขยะชุมชนฯ คือการคัดแยกขยะที่เผาไหม้ได้ ไปเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) โดยการนำขยะมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกแล้ว มาผ่านกระบวนการแปรรูปและจัดการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะ และป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า ซึ่งศูนย์ฯ มีโรงไฟฟ้าต้นแบบขนาดเล็ก ที่ใช่เชื้อเพลิงจากการเผาไหม้ของขยะ ผลิตเป็นไฟฟ้าได้ขนาด 9.90 เมกกวัตต์ และสามารถกำจัดขยะชุมชนได้ 300 ตันต่อวัน
          นอกจากการกำจัดขยะในรูปแบบต่างๆ แล้ว ทางศูนย์ยังมีกระบวนการกำจัดน้ำที่มีจากขยะเช่นกัน โดยผ่านการกลั่นกรองจากน้ำขยะสีดำ จนกลายเป็นน้ำใสด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จากนั้นจึงนำน้ำที่ใสแล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในโครงการ ทั้งรดน้ำต้นไม้ เลี้ยงปลา และการนำไปทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้ในกระบวนการฝังกลบขยะอีกด้วย..

Comments

comments