THAI TIME สมุทรปราการ ตามหาที่มา “ดอกบัว” งานประเพณีรับบัว ตัวแทนแห่งศรัทธา..ที่ไม่เคยจางจากใจพุทธศาสนิกชน 2128 Views 23 มกราคม 201920 มีนาคม 2020 echo getPostViews(get_the_ID()); admin งานประเพณีรับบัวประจำปี 2561 ที่ผ่านมา พุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศหลั่งไหลกันมาแบบมืดฟ้ามัวดิน ด้วยพลังแห่งความศรัทธา ตลอดสองฟากฝั่งคลองสำโรงเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาเฝ้ารอขบวนแห่ทางน้ำ ประเพณีนี้ “ดอกบัว” ถือเป็นตัวแทนจิตวิญญาณ ความนอบน้อม การถวายเป็นพุทธบูชา และการสักการะองค์หลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีตำนานเล่าขานคู่บ้านคู่เมืองชาวบางพลีและชาวสมุทรปราการมาหลายชั่วอายุคน..ดอกบัวลอยละล่องอยู่กลางอากาศ จุดหมายเป็นหนึ่งเดียวคือ เรือบุษบกที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อโต.. และมีจำนวนไม่น้อยที่พลาดเป้าไปลอยละล่องอยู่เต็มพื้นน้ำคลองสำโรง จึงเกิดคำถามตามมาว่า ปริมาณดอกบัวในประเพณีนี้จะมีปริมาณสักเท่าไหร่ และหลังจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่มาจัดเก็บขึ้นจากลำคลอง เขานำเอาดอกบัวเหล่านี้ไปทำอะไร? ข้อมูลจาก นายชนินทร์ สว่างแก้ว ไวยาจักรวัดบางพลีใหญ่ในพระอารามหลวง ระบุว่าในแต่ละปี ทางวัดได้จัดเตรียมดอกบัวเอาไว้รองรับผู้มาร่วมบุญ ประมาณ 50,000 ดอก มาจากแม่ค้าที่อยู่บริเวณรอบๆ บริเวณวัดราว 30 ราย เฉลี่ยรายละ 1,000 ดอก คิดเป็นจำนวน 30,000 ดอก มีดอกบัวที่ประชาชนนำมาบริจาคให้ทางวัดประมาณ 10,000 ดอก ส่วนที่เหลือจะเป็นดอกบัวที่ประชาชนนำติดตัวมาเองจากบ้านคาดว่าอีกประมาณ 10,000 ดอก (คำนวณจากปริมาณผู้มาร่วมงานแต่ละปี เฉลี่ยแต่ละคนใช้ดอกบัวบูชาหลวงพ่อโต คนละ 1 กำๆ ละ 10 ดอก) รวมเบ็ดเสร็จ คาดกันว่าจะมีดอกบัวเข้ามาอยู่ในบริเวณงานประเพณีรับบัวมากถึง 1 แสนดอก นับว่าเป็นจำนวนที่มากมายมหาศาล ดอกบัวจำนวนกว่าแสนดอกนั้นมาจากแหล่งไหน เฉพาะพื้นที่สมุทรปราการหรือไม่ หรือว่ามีการนำมาจากแหล่งอื่น นี่คือถามที่ชวนสงสัย? หากเป็นในอดีตเราคงไม่แปลกใจเพราะ จากคำบอกเล่าของ นางสาวชูศรี สัตยานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบางพลี ที่บอกว่าในอดีตคลองสำโรงที่ถือเป็นเส้นทางเชื่อมสายใยระหว่างชาวไทย ชาวลาว และชาวมอญแห่งนี้ เคยมีดอกบัวลอยอยู่เต็มลำคลอง เวลาออกดอกถือเป็นภาพที่สวยงามละลานตา โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบางพลี และบางบ่อ จะมีต้นบัวขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ความเจริญแผ่ขยายเข้ามาสู่เมืองสมุทรปราการอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่า ปัจจุบันย่านบางพลี-บางบ่อ ยังมีนาบัวหรือพื้นที่ปลูกบัวขนาดใหญ่อยู่เหมือนเดิมอีกหรือไม่ จากการสอบถามนางเสาวลักษณ์ ทิมละม่อม แม่ค้าดอกไม้บริเวณวัดบางพลีใหญ่ใน บอกกับทีมงานว่า ตนรับดอกบัวมาจาก ตลาดปากน้ำ นำมาขายในประเพณีรับบัวทุกปี โดยรับมาประมาณ 1,000 ดอก และจำหน่ายหมดทุกปี ทีมงานจึงสืบเสาะต่อไปว่า แล้วบรรดาพ่อค้า-แม่ค้า ที่นำดอกบัวมาขายให้กับชาวสมุทรปราการ เพื่อนำไปเข้าร่วมงานประเพณีรับบัว มีต้นทางมาจากไหน ซึ่งข้อมูลที่ได้รับส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่แหล่งรวมสินค้าการเกษตรขนาดใหญ่ที่สุดของไทย นั่นก็คือ ปากคลองตลาด และตลาดไท ซึ่งในจำนวนนี้พบว่า ผู้ที่นำดอกบัวมาจำหน่ายมากที่สุดไม่ใช่จากย่านบางพลี บางบ่อ สมุทรปราการ เหมือนแต่ก่อน หากเป็นเกษตรกรนาบัวจากจังหวัดนครปฐมมากกว่าจังหวัดอื่น ไม่ว่า “ดอกบัว” จะเดินทางมาจากแห่งหนตำบลไหน แต่สุดท้ายก็จะมุ่งหน้ามาสู่สถานที่สำคัญ นั่นก็คืองานนมัสการหลวงพ่อโต หรือประเพณีรับบัวที่ยิ่งใหญ่ ที่ชาวสมุทรปราการถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน เพราะบัวคือตัวแทนแห่งความศรัทธา ที่ไม่เคยจางหายไปจากใจพุทธศาสนิกชน.. “นาบัว”ยุคสุดท้าย..บันทึกไว้ให้ลูกหลาน ก่อนจะถูกกลืนเป็นบ้านจัดสรร จากคำบอกเล่าว่ายังคงมีนาบัวหลงเหลืออยู่ที่บ้านคลองระกาศ อำเภอบางบ่อ ทีมงานจึงเดินทางมาตามหาและได้พบกับคุณป้าสมคิด มียิ้ม เจ้าของพื้นที่นาบัวจุดหมายปลายทางของเราในวันนี้ ป้าสมคิด ที่เกิดและเติบโตในพื้นที่จวบจนเข้าวัย 72 ปี เล่าว่า ตนผ่านการประกอบอาชีพมาหลากหลายทั้งทำนา เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลานิล ต่อสู้กับภาวะขาดทุน หนี้สินรุงรัง จึงหันมาทำนาบัวแทน แต่กว่าจะประสบความสำเร็จ ได้ลองผิดลองถูกมามากมาย เคยท้ออยากเลิกทำก็หลายครั้ง ป้าสมคิดยกมือพนมท่วมหัวก่อนกล่าวกับเราว่า ทุกวันนี้ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ลดการใช้สารเคมี ทำนาบัวในบ่อเลี้ยงปลาเบญจพรรณ บนบกก็ปลูกตะไคร้หอม และพืชผักสวนครัวไว้ทั้งกินและขาย ไม่เดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิตและมีรายได้เสริมจึงทำให้สามารถลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง บัวที่ป้าสมคิดเลือก คือบัวฉัตร เพราะมีดอกใหญ่ กลีบหนา ออกดอกดี และเป็นที่ต้องการของตลาดมาก การทำนาบัวของป้าไม่มีขั้นตอนอะไรมาก ลงปลูกครั้งเดียวบัวก็แตกออกไปสามารถเก็บได้เรื่อยๆ การดูแลต้องระวังเรื่องหนอนบุ้งและแมลง โดยป้ามีวิธีง่ายๆ คือตัดใบแก่ทิ้งให้หมด เพื่อลดที่อยู่อาศัยของหนอนและแมลงต่างๆ ใบแก่ที่ตัดก็จมใบใต้น้ำกลายเป็นอาหารของปลาที่เลี้ยงในบ่อ ลงไปเป็นปุ๋ยให้ต้นบัว ได้ประโยชน์อีกต่อ มีแค่แรงกายกับแรงใจเป็นต้นทุน ป้าสมคิดและน้องสะใภ้จะช่วยกันเก็บบัวเช้าตรู่ของทุกๆ วันโกณ แล้วลูกชายจะเป็นคนนำไปขายให้กับแม่ค้าเจ้าประจำตามจุดต่างๆ ทั่วสมุทรปราการ คุณป้าเล่าว่าสมัยเมื่อเรี่ยวแรงยังดีนั้นจะเก็บดอกบัวได้ครั้งละ 3,000 ดอก ปัจจุบันเก็บได้ครั้งละ 1,000 ดอก บัวราคาประมาณ 2-3 บาท นอกจากนี้ยังมีตะไคร้ที่ขายได้กิโลกรัมละ 8 บาท และปลาเบญจพรรณในบ่อที่เลี้ยงไว้หนึ่งปีจะวิดบ่อมาขาย 1 ครั้ง มูลค่ากว่าแสนบาท การใช้จ่ายอย่างพอเพียงไม่ฟุ่มเฟือย ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของป้าค่อยๆ ดีขึ้นมาตามลำดับ ป้าสมคิดภูมิใจกับการเป็นเกษตรกรนาบัวมาก เพราะนอกจากจะทำให้ตนและครอบครัวอยู่ได้ และยังเชื่อว่าได้เป็นส่วนหนึ่งในการปลูกบัวเพื่อให้ศาสนิกชนได้นำไปใช้บูชา และพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ เช่น ในประเพณีรับบัวที่ผ่านมา ถึงแม้ความเจริญจะเข้ามากล้ำกลายวิถีชีวิตของเราสักเพียงไหน ปริมาณดอกบัวในประเพณีรับบัวนี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันว่า ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่ได้ห่างหายไปไหนจากหัวใจคนไทย Comments comments ข่าวที่น่าสนใจ: พาณิชย์จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งจุดขายหน้ากากอนามัยราคาถูก ประชาชนแห่ซื้อแค่ชั่วโมงเดียวเกลี้ยง!! 2 บ.ต่างชาติ..เสนอตัวก่อสร้าง โครงการ “กระเช้าลอยฟ้า” อบจ.สมุทรปราการ เมนูเด็ดเป็ดย่างร้านแป๊ะเฮง2 อร่อยครองใจลูกค้ามากว่า 14 ปี รวม OTOP เด่น…อนาคตไกล ขวัญใจชาวสมุทรปราการ ตลาดเชิงท่องเที่ยวฯคืบหน้าแล้ว81% คาดเปิดได้เร็วๆ นี้