ผ่านพ้นไปด้วยดีกับเทศกาลปีใหม่ไทย แม้อากาศจะร้อนอบอ้าวสักเพียงใด แต่หัวใจของคนสิงห์บุรีก็ยังคงยึดมั่นในประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้อย่างมั่นคง..หลายวัด หลายสถานที่ มีกิจกรรมปลุกวัฒนธรรมเก่าออกมาเล่าขานให้อนุชนรุ่นหลังสืบทอดได้อย่างน่าชื่นชม..
วัดที่อยากจะหยิบยกมาเล่าต่อไปนี้ เป็นวัดเก่าที่เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่รู้จัก..วัดธรรมสังเวช ต.หัวไผ่ อ.เมืองสิงห์บุรี เดิมมีชื่อว่า “วัดตากแดด” เคยเป็นวัดร้างตั้งอยู่ริมคลองโพธิ์ชัย สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ปี 2419 หรือราว 143 ปีมาแล้ว ซึ่งตรงกับสมัยต้นรัชกาลของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมาได้วิสุงคามสีมาเอาในปี 2440
ที่มาหรือสาเหตุที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดตากแดด” เป็นเพราะเดิมชาวบ้านย่านนี้ฐานะยากจน แต่เปี่ยมไปด้วยจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงสร้างวัดกันแบบตามมีตามเกิด กล่าวคือสร้างเป็นเพิง(ชาวบ้านเรียกเพิงหมาแหงน) ทำกันแบบง่ายๆ ประหยัดทุนทรัพย์และใช้วัสดุเท่าที่หาได้ในท้องถิ่นมาก่อสร้าง
ทีนี้สภาพเพิง ซึ่งเป็นเรือนแบบมุงหลังคาด้านเดียว จึงไม่อาจคุ้มแดดคุ้มฝนได้ ไม่ว่าช่วงเวลาไหน แดดจะต้องส่องเข้าไปในบริเวณวัดตลอดทั้งวัน การปฏิบัติศาสนกิจจึงต้องดำเนินไปเสมือนอยู่ท่ามกลางแดด ชาวบ้านจึงเรียกกันจนติดปากว่า “วัดตากแดด” เรื่อยมา
จนหลังจากพระอาจารย์ภู ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก จึงระดมชาวบ้านมาร่วมกันบูรณะวัด ด้วยการขุดสระน้ำขนาดใหญ่เพื่อเก็บน้ำเอาไว้ในใช้ในช่วงฤดูแล้ง..ปรากฏว่าพบพระพุทธรูปจมอยู่ใต้ดิน จึงช่วยกันอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐาน โดยพร้อมใจขนานนามว่า “หลวงพ่อหิน” ถือเป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านให้ความเคารพกราบไหว้ โดยเชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ดังนั้นทุกปีจะมีประเพณีจัดงานปิดทองหลวงพ่อหิน ที่ถือเป็นงานใหญ่ของแถวบ้านย่านนี้..
หลวงพ่อหิน เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 3 ศอก ปางมารวิชัย ศิลปะสมัยละโว้หรือลพบุรี เป็นพระพุทธรูปเนื้อหินปนทราย งดงามมาก
ต่อมาปี 2450 พระวินัยธรรมกิ่งสุวรรณ ได้เป็นเจ้าอาวาส เห็นว่าควรเปลี่ยนชื่อวัดตากแดดเป็นวัดธรรมสังเวช ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัด นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ปัจจุบันวัดธรรมสังเวช พัฒนาไปมาก ร่มรื่น ด้านหลังเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (จะนำเสนอในโอกาสต่อไป) มีถาวรวัตถุเก่าล้ำค้าหลายอย่าง โดยเฉพาะกุฎิไม้งดงามมาก
Comments
comments