เป็นความโชคดีของ Admin ที่ได้รับความกรุณาจากเจ้าของบ้านจันทร์ประเสริฐ ที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตระกูลเศรษฐีของอำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่สืบทอดมาสู่รุ่นที่ 3 ย่างเข้าสู่รุ่นที่ 4 แล้ว รวมเบ็ดเสร็จบ้านหลังนี้อายุเกิน 100 ปี โดยคุณยายเจ้าของบ้านที่เป็นทายาทรับสืบทอดมรดก ปัจจุบันอายุ 88 ปีแล้ว แต่ยังแข็งแรง ความจำดีมาก คุยสนุก มีมุขให้ลูกหลานฮา ขำกันตลอด..
ลักษณะของตัวบ้าน ทำด้วยไม้ทั้งหลัง แม้จะมีการปรับปรุงซ่อมแซมไปบ้าง แต่ก็ยังคงหลงเหลือกลิ่นอายของวิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ ในฐานะผู้มีอันจะกินเก่าแก่เอาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยตัวเรือนเป็นลักษณะครอบครัวขยาย ต่อกันหลายหลัง มีนอกชานเป็นตัวเชื่อมตรงกลาง พื้นใต้ถุนยกสูงป้องกันน้ำท่วม มีการเกาะสลักลวดลายตามชายคาและบานเฟื้ยมฝาผนังกั้นห้องอย่างงดงาม นอกจากนี้ยังมีเฟอร์นิเจอร์หรูๆ ที่คนระดับชาวไร่ชาวนาธรรมดา ไม่มีโอกาสได้สัมผัสแน่นอน เพราะเป็นงานไม้สักละเอียดและประณีต บ่งบอกว่าราคาคงจะสูงมาก
เรือนโบราณหลังนี้ น่าจะคล้ายคลึงกับอีกหลายหลังในแถบภาคกลางก็คือ มีการแขวนภาพถ่ายบรรพบุรุษเรียงรายเอาไว้ตามข้างฝา แต่ละภาพบ่งบอกอายุได้เป็นอย่างดีว่าเก่ามาก แต่คุณภาพความคมชัดยังอยู่ในเกณฑ์ดี ที่น่าทึ่งก็คือฝ้าเพดานที่ทำด้วยไม้กระดานไสบางทั้งแผ่น(ชนิดเดียวกับที่ใช้ทำฝาบ้าน) ตีปิดทึบ ทาน้ำมันแดงกันปลวกและแมลง ซึ่งจะมีเฉพาะบ้านระดับเศรษฐีเท่านั้น เนื่องจากต้องใช้ไม้ปริมาณมาก
คุณยายเจ้าของบ้านทายาทสายตรงเล่าให้ฟังว่า บ้านหลังนี้เคยมีลูกหลานอาศัยอยู่ถึง 3 ครอบครัว รวมแล้วเกือบ 20 ชีวิต..ลองคิดเอาเองว่า เวลารวมตัวกันตอนค่ำๆ ของแต่ละวัน จะอึกทึก เจี๊ยวจ๊าว กันขนาดไหน โดยหัวหน้าหลักของบ้านหลังนี้ มีหน้าที่เดินสายออกไปเก็บค่าเช่านา..ตามหมู่บ้านต่างๆ ที่มีผืนนาอยู่ในครอบครองกว่า 1,000 ไร่ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ลงมือเพาะปลูกเอง
ถามว่า แล้วมีวิธีการแบ่งมรดกให้ลูกหลานกันอย่างไร เนื่องจากทำเลผืนนาแต่ละแปลงจะตีราคามากน้อยจากเนื้อที่อย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูทำเลด้วย เดี๋ยวจะมองว่าลำเอียงไหม..คำตอบที่ได้คือ คละกันไป ไม่ให้ใครได้ย่านใดย่านหนึ่งไปทั้งหมด โดยนำโฉนดมาแบ่งกลุ่มเป็นกองๆ ตามจำนวนลูกหลานที่จะจัดสรร แล้วใช้วิธีเรียกมาประชุมพร้อมหน้ากันเพื่อจับสลาก..
วิธีนี้นอกจากจะเฉลี่ยมูลค่าอย่างยุติธรรมแล้ว ยังเป็นกุศโลบายให้ลูกหลานพึ่งพากัน คือฝากกันดูแลที่นาทำกินซึ่งกันและกันได้ เพราะที่ดินกระจายไขว้กันไปทั้งหมด ไม่ได้แยกกันชัดเจนคนละตำบลหรือคนละหมู่บ้าน ทำให้ลูกหลานกลมเกลียวกัน เพราะต้องอาศัยพึ่งพากัน..สุดยอดวิธีคิดจริงๆ