แปะไว้เป็นข้อมูลครับ ใครที่มีญาติพี่น้องเป็น มรรคนายก หรือ บ้านเราเรียกกันจนติดปากว่า “มรรคทายก” ตามวัดต่างๆ ต้องภูมิใจนะครับ!!! เพราะสมัยก่อนถือว่าเป็นตำแหน่งที่ทรงเกียรติมาก ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ เหมือนปัจจุบัน ต้องให้พระมหากษัตริย์แต่งตั้งนะครับ..
ยกตัวอย่างเอกสาร ที่ผมไปค้นพบมา ในประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ร.ศ.126 (สมัย ร.5) ความว่า “ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาต ให้กระทรวงธรรมการ ออกออกประทวนตราเสมาธรรมจักร์ ตั้งให้นายฉายเปนมรรคนายกวัดบ้านไร่(หมายเหตุ Admin : ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวัดโฆษิตาราม) นายทอง เปนมรรคนายกวัดบ้านม่วงแขวงเมืองสิงห์บุรี ประทวนตั้งลงวันที่ 9 พฤศจิกายน ศก 126 มรรคนายกทั้ง 2 นี้ มีอำนาจและหน้าที่ตามข้อบังคับเรื่องเงินกัลปณาสงฆ์ ศก 121 ทุกประการ”
อีกฉบับหนึ่งครับ..ที่แสดงบทบาทของมรรคนายก ว่าสำคัญมาก โดยจะต้องรายงานกิจการภายในวัดต่อพระมหากษัตริย์ให้ทรงทราบอย่างละเอียด เช่น ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ รศ.129 (สมัย ร.6) กล่าวถึงมรรนายกวัด ในจังหวัดสิงห์บุรีตอนหนึ่งว่า “..นายกลอยมรรคนายกวัดธรรมสังเวช เรี่ยไรเงินได้ 2,616 บาท 94 สตางค์ ได้จัดการปฏิวังขรณ์ศาลาการเปรียญหนึ่งหลัง สิ้นเงิน 2,400 บาท หักจ่ายแล้วคงเหลือ 216 บาท 94 สตางค์..
ส่วนนายกล้ายมรรคนายกวัดใหม่สุทธาวาศ เก็บผลประโยชน์กัลปานาได้เงิน 20 บาท เรี่ยไรได้เงิน 422 บาท 50 สตางค์ รวมเปนเงิน 442 บาท 50 สตางค์ ได้จัดการปฏิสังขรณ์หอสวดมนต์หนึ่งหลัง สิ้นเงิน 422 บาท 50 สตางค์ หักจ่ายแล้วคงเหลือ 20 บาท กระทรวงธรรมการได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว..”เห็นไหมครับว่า ตำแหน่งมรรคนายกสมัยก่อนนี่ มีความสำคัญมาก.