วานนี้ (31 กรกฎาคม 2561) แพทย์หญิงวนิดา สาดตระกูลวัฒนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิงห์บุรี กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่มีผู้ก่อเหตุใช้อาคารของโรงพยาบาลฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากดาดฟ้าบ่อยครั้งขึ้นว่า น่าจะเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เริ่มจากตัวอาคารของโรงพยาบาลสูงถึง 9 ชั้น ซึ่งถือว่าสูงที่สุดของจังหวัดสิงห์บุรี และยังเป็นสถานที่ราชการบุคคลทั่วไปทั้งผู้ป่วยและไม่ใช่ผู้ป่วยของโรงพยาบาลสามารถเข้ามาภายในอาคารได้ง่าย ไม่เหมือนอาคารของภาคเอกชนที่มีความเข้มงวดในการเข้าและออกของบุคคลภายนอก จึงเป็นเป้าหมายให้ผู้คิดฆ่าตัวตายใช้เป็นสถานที่ก่อเหตุ
อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากตัวผู้ก่อเหตุเอง พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีสภาพจิตใจไม่ปกติ เช่น ได้รับผลกระทบจากปัญหาครอบครัวอย่างรุนแรง หรือป่วยเป็นโรคภาวะซึมเศร้า นอกจากนี้บางรายยังจงใจที่จะเดินทางมาใช้อาคารของโรงพยาบาลเป็นสถานที่ก่อเหตุ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่คนไข้หรือเกี่ยวข้องกับผู้ใดในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากต่อการดูแลของเจ้าหน้าที่ว่าจะเป็นผู้เข้ามาก่อเหตุหรือไม่
สำหรับมาตรการในการป้องกัน แพทย์หญิงวนิดากล่าวว่า ทางโรงพยาบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามหาวิธีป้องกันไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปถึงชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นจุดที่มักถูกใช้สถานที่ก่อเหตุ ด้วยการทำประตูเหล็กดัดพร้อมกับล็อคกุญแจแน่นหนา แต่ปรากฏว่าก็ยังมีผู้พยามแทรกตัวผ่านช่องว่างของเหล็กดัดขึ้นไปก่อเหตุซ้ำได้อีก ทางโรงพยาบาลจึงได้ปรับปรุงเหล็กดัดให้มีความถี่มากยิ่งขึ้น ซึ่งกรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 31 กรกฏาคมที่ผ่านมา ยังไม่สามารถระบุชัดเจนลงไปได้ว่า ผู้ก่อเหตุขึ้นไปยังชั้นดาดฟ้าได้อย่างไร โดยอยู่ในระหว่างรอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดต่อไป แต่อย่างไรก็ตามจะนำตาแกรงลวดอย่างหนามาติดเพื่อลดช่องโหว่ของลูกกรงเหล็กอีกชั้นหนึ่งด้วย
ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้ทางโรงพยาบาลทำกำแพงชั้นดาดฟ้าให้สูงกว่านี้ เพื่อป้องกันการปีนข้ามได้โดยง่าย หรือบางรายเสนอให้ทำคล้ายๆ กรงเหล็กดัดปิดล้อมทั้งหมดนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าพิจารณาผลกระทบอีกด้านหนึ่ง หากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ ผู้ที่ติดอยู่ในอาคาร รวมถึงการลำเลียงผู้ป่วยออกจากอาคารก็จะกระทำไม่ได้ด้วยเช่นกัน
“ภายในสัปดาห์นี้จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและบรรเทาสาธารณภัยมาหารือถึงมาตรการป้องกัน การเตรียมความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ รวมไปถึงมาตรการช่วยเหลือที่รัดกุม เพื่อลดความสูญเสียหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก นอกจากนี้คงต้องฝากไปยังสื่อมวลชนเกี่ยวกับการนำเสนอข่าวด้วยว่า จะต้องระมัดระวัง เพราะในอีกด้านหนึ่งอาจจะกลายเป็นการส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้นได้ เนื่องจากผู้ก่อเหตุเป็นผู้ที่มีภาวะจิตใจไม่ปกติอยู่ก่อนแล้ว จึงควรระมัดระวังในการเผยแพร่ภาพหรือข่าวสารสู่ภายนอก” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิงห์บุรีกล่าว
ด้าน นายวุฒิพันธุ์ สิทธิการิยะ หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลสิงห์บุรี กล่าวว่า มาตรการป้องกันของทางโรงพยาบาลถือเป็นการป้องกันที่ปลายเหตุ ส่วนการป้องกันที่ได้ผลอย่างแท้จริงจะต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวและบุคคลใกล้ชิด ให้หมั่นสังเกตพฤติกรรมของบุคคลรอบข้างว่ามีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือไม่ เช่น เก็บตัวเงียบนานผิดปกติ ไม่พูดจากับใคร หรือมีการบ่นหรือพูดเปรยทำนองว่าอยากตายบ้างหรือไม่ หากพบอาการดังกล่าวควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
หัวหน้ากลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลสิงห์บุรี กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันจังหวัดสิงห์บุรีกำลังเกิดปัญหามีผู้ป่วยทางด้านจิตเวชในปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่นับวันจะมีมากขึ้นตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มผู้มีฐานะยากจน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจกดดันจนเกิดความเครียดอย่างรุนแรง, ปัญหายาเสพติด, การดื่มสุราและของมึนเมา และที่พบมากอีกปัญหาหนึ่งก็คือปัญหาครอบครัว ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นภาระหนักของทางโรงพยาบาลที่จะต้องดูแลรักษา เพราะผู้ป่วยทางด้านจิตเวชวิธีการรักษาจะไม่เหมือนกับผู้ป่วยทั่วไป
BY : กองบรรณาธิการ แฟนเพจ Singburi Review ในเครือ สำนักข่าว THAI TIME [ www.thaitimeonline.com ]