THAI TIME สิงห์บุรี, ข่าวปัจจุบัน

แฮปปี้ทุกฝ่าย ชาวนา 2 จังหวัด “สิงห์บุรี-อ่างทอง” ตกลงกันได้..แบ่งน้ำทำนาร่วมกัน!!

1869 Views

ชาวนาสิงห์บุรี-อ่างทอง ส่งตัวแทนเข้าฟังคำชี้แจงวิธีการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน จากชลประทาน ได้ข้อสรุป จัดคิวแบ่งน้ำทำนาอย่างทั่วถึง!!

          วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เมื่อเวลา 09.50 น. ที่โครงการส่งน้ำบำรุงรักษาชัณสูตร หมู่ 8 ตำบลโพชนไก่ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี มีตัวแทนเกษตรผู้ใช้น้ำจาก ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี และชาวตำบลรัมศักดิ์ และตำบลวังน้ำเย็น จังหวัดอ่างทอง จำนวน 85 คน เข้ารับฟังคำชี้แจงมติข้อตกลงการบริหารการจัดการน้ำ ส่งเข้าคลองสายหลัก 5 คลอง เพื่อใช้ในการเกษตร
         โดยมีนายชิษณุพงศ์ นิลวดีพุฒิพัชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร นายปัญญา ใช้เฮ็ง นายอำเภอบางระจัน นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส. สิงห์บุรี นายธีรัตน์ พันธุประกิจ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานชัณสูตร นายเทิดไท มีสะอาด สาธารณสุขอำเภอบางระจัน กำลังตำรวจ สภ.บางระจัน อสม. ตำบลโพชนไก่ เข้าร่วมรับฟัง
          นายสุรัตน์ โพธิ์ดี ตัวแทนเกษตรกร ชาวตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจันกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 มีชาวนา จาก 3 ตำบล ของอำเภอบางระจันมาร้องเรียนให้ชลประทานปล่อยน้ำ ให้ได้ทำนาและนัดหมายให้วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เวลา 09.30 น. เพื่อหาทางแก้ไขให้เป็นมติร่วมกันระหว่าง เกษตรกรผู้ใช้น้ำ, ชลประทาน ผู้นำชุมชน วันนี้จึงมีตัวแทนเกษตรกรมาฟังคำตอบจากชลประทานว่าจะช่วยเหลืออย่างไร
          ขณะที่นายอรุณ ขอพึ้ง เกษตรกรชาวตำบลรัมศักดิ์ อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง ร้องขอน้ำทำนา (คลอง 1 ขวา) หน้าตู้ยามสระ คลองชลประทานดังกล่าวมีวัชพืชปกคลุมขวางทางอยู่จำนวนมาก น้ำส่งไปไม่ถึงตำบลรัมศักดิ์ ขณะนี้ ชาวนาที่ปลูกข้าวอยู่ไม่มีน้ำเลี้ยงข้าวกำลังจะยืนต้นตาย สูบน้ำจากใต้ดิน ข้าวที่ปลูกไว้ก็ตายหมด น้ำใต้ดินใช้ไม่ได้ อยากจะได้น้ำจากชลประทานส่งไปให้ทำนา ก่อนข้าวจะตายทั้งหมด
         สำหรับบรรยากาศโดยรวมจากการสังเกตการณ์ของผู้สื่อข่าวพบว่า เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยทุกฝ่ายมีข้อสรุปร่วมกันดังนี้
          ประเด็นการชี้แจง : แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรของคลองส่งน้ำทั้ง 5 คลองที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ตามที่โครงการฯ ชัณสูตรได้รับการจัดสรรน้ำเข้าสู่คลองส่งน้ำ 1 ขวา ในอัตรา 7 ลบ.ม/วินาที เพื่อใช้สำหรับการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศและช่วยเหลือพื้นที่ที่เพาะปลูกข้าวไปแล้ว จึงได้พิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ดังนี้
1.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว บริเวณปากคลองส่งน้ำ ทั้ง 5 คลองได้แก่ 1 ซ้าย-1 ขวา, 2 ซ้าย-1 ขวา, 3 ซ้าย-1 ขวา, 4 ซ้าย-1 ขวา และ 1 ขวา-1 ขวา และติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณ กม. 16+000 ของคลองส่งน้ำ 1 ขวา เพื่อสูบน้ำเสริมเข้าบริเวณ กม.9+000 ของคลองส่งน้ำ 4 ซ้าย-1 ขวา รวมทั้งสิ้นจำนวน 6 เครื่อง
2.รูปแบบการใช้น้ำของแต่ละคลอง ได้กำหนดให้มีการสูบน้ำเข้าคลองเพื่อให้มีน้ำนอนคลองเป็นน้ำต้นทุน โดยงดการใช้น้ำของเกษตรกรในช่วง 3 วันแรก
3.ผู้แทนเกษตรกรแต่ละคลองร่วมกับเจ้าหน้าที่ชลประทานในการจัดรอบเวรหมุนเวียนการใช้น้ำภายในแต่ละคลอง
4.ผู้แทนเกษตรกรในเขตจังหวัดอ่างทองขอให้โครงส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร พิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในแนวทางเดียวกัน โดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อลดผลกระทบไม่ให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
          ผลการประชุม : เกษตรกรมีความพึงพอใจและแยกย้ายกลับ โดยใช้เวลาในการประชุมชี้แจงประมาณ 2 ชั่วโมง
by : ประนอม พวานนท์ ผู้สื่อข่าว THAI TIME ประจำจังหวัดสิงห์บุรี

Comments

comments